วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มองสังคมไทยผ่านหนังสือ “ฉันจึงมาหาความหมาย”


มองสังคมไทยผ่านหนังสือ “ฉันจึงมาหาความหมาย”

และพิมพ์ครั้งที่ 18 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน เมื่อเร็วๆ นี้ ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดได้รวมเรื่องแต่งยุคหลังจากผู้เขียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว (2512-2527) และเคยพิมพ์เป็นเล่มต่างหากชื่อ “ฝันของเด็กชาวนา” ไว้ด้วย เพราะเห็นว่าเป็นงานต่อเนื่องกัน และการแสวงหาความหมายเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่เฉพาะช่วงการเป็นนักศึกษาปริญญาตรีเท่านั้น
 
วลี “ฉันจึงมาหาความหมาย” มาจากบทกวีวรรคหนึ่ง ในบทกวี ชื่อ “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ที่คนนิยมอ้างถึงบทหนึ่ง ที่มี 4 วรรค “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง / ฉันจึง มาหา ความหมาย / ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย / สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว/” นี่เป็นเพียงบทหนึ่งของงานทั้งชิ้น ซึ่งมี 7 บทด้วยกัน (พิมพ์ครั้งแรกปี 2511) ควรอ่านทั้ง 7 บท จึงจะเข้าใจความหมายที่ผู้เขียน (ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษา) ต้องการสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์
 
“ฉันจึงมาหาความหมาย” หรืออีกวลีหนึ่ง คือ “ยุคแสวงหา” ถูกนักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์วรรณกรรมใช้เป็นชื่อยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวไทยในช่วงปี พ.ศ. 2507-2515 เริ่มตื่นตัว ตั้งคำถาม แสวงหาความหมายเรื่องชีวิตและสังคม หลังจากที่สังคมไทยได้ผ่านพ้นยุคเผด็จการจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2501-2506) ที่บางคนเรียกว่ายุคเงียบหรือยุคสายลมแสงแดด และกำลังพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยแบบทุนนิยมบริวาร ที่เอารัดเอาเปรียบและสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
 
ยุคแสวงหา / ฉันจึงมาหาความหมาย คือ ยุคการตั้งคำถาม การถกเถียง ก่อตัวทางความคิดและจิตสำนึกของปัญญาชนหนุ่มสาว กลุ่มนักเขียน นักกิจกรรม ที่นำไปสู่การเรียกร้องความเป็นธรรมและต่อมา คือ ประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 
 
ประเด็นที่คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันสงสัย ชอบตั้งคำถามกับคนรุ่นเรามาก คือ แล้วสังคมไทยในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ดีขึ้น เลวลง หรือก็เหมือนเดิม แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก?
 
ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 เรามีโอกาสปฏิรูปสังคมไทยให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้มาก นักศึกษาตื่นตัว มีอุดมคติสูง แต่ชนชั้นนำไทยที่จารีตนิยมสุดโต่งมาก ได้ทำลายโอกาสนี้ พวกเขาเข่นฆ่านักศึกษา ประชาชน บีบคั้นให้นักศึกษาเอียงซ้ายสุดโต่งอย่างไม่มีทางเลือก ความล้มเหลวของพรรคฝ่ายสังคมนิยมในเวลาต่อมา ทำให้ทุนนิยมอุตสาหกรรมยิ่งเฟื่องฟู และสร้างปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งกว่าในยุคก่อนปี 2516
 
ปัญหาใหญ่ที่ประชาชนยังเอาชนะไม่ได้ คือ สังคมไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง แบบผูกขาดอำนาจ โดยคนกลุ่มน้อย มีโครงสร้างความคิด ค่านิยม จารีตนิยม ล้าหลังมาก ไม่รักการอ่าน คิดวิเคราะห์ ไม่มีแนวคิดเชิงปฏิรูป ไม่ขวนขวายทำจริงอย่างต่อเนื่อง ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล คนบางคน ถ้าเห็นความไม่เป็นธรรมชัดๆ อาจเข้ามาช่วย แต่ผ่านไปแล้วก็เลิกรากันไป ไม่คิดทำต่อเนื่องอย่างลึกซึ้ง 
 
เรื่องแต่งใน ฉันจึงมาหาความหมาย ชุดแรก (2508-2512) สะท้อนปัญหาชีวิตและการคิดของคนทั้งในเมืองและชนบท ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่องว่าง ความแปลกแยก ตั้งคำถามหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมากนัก ผู้เขียนในตอนนั้นเป็นคนหนุ่มที่มีแนวคิดมนุษยนิยม รักความเป็นธรรม ความถูกต้อง สันติภาพ ยังไม่มีแนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือสังคมนิยม เพราะยุคนั้นเป็นยุคเผด็จการ คนไทยไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิต หนังสือทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ก้าวหน้า ซึ่งเพิ่งจะกลับมาฟื้นฟูกันใหม่ในช่วงใกล้ และหลัง 14 ตุลาคม 2516
 
เรื่องแต่งของผู้เขียนในชุดที่ 2 ช่วงมาทำงานด้านหนังสือและวิชาการ (ปี 2512-2527) มีบางอย่างที่ต่างไปชุดแรก ช่วงปี 2516-2519 งานบางชิ้นได้อิทธิพลวรรณกรรมเพื่อชีวิตของฝ่ายสังคมนิยมอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นการผสมผสานความคิดและประสบการณ์ที่ผู้เขียนมองเห็นคนอื่นนอกจากตัวเองเพิ่มขึ้น โกรธเกรี้ยว/หงุดหงิดน้อยลง เมื่อเทียบกับงานช่วงเป็นนักศึกษา มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอาจไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่มุมมอง วิธีการมองของผู้เขียนค่อยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สุขุมขึ้น
 
40 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ยังเป็นผู้ชนะอยู่ ประชาชนอาจได้ประโยชน์บ้างในเชิงเปรียบเทียบ เช่น ประชาชนที่เคยอยู่ในเขตที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ ไม่ต้องอยู่ใต้ความหวาดกลัวทหารทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนในยุคสงครามกลางเมือง (พ.ศ. 2507-2523) ประชาชนในชนบทได้พัฒนาทางวัตถุ พ้นจากความขาดแคลนยากจนแบบดั้งเดิมบ้าง แต่ก็ต้องเจอความยากจนแบบใหม่ที่ต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ช่องว่างของคนต่างกลุ่มเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่องฐานะ รายได้ เท่านั้น เรื่องการศึกษา ฐานะทางสังคมของคนไทย ก็แตกต่างกันมากขึ้น คนจนนอกจากจะจนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังจนด้านความรู้ ความคิด ความอ่าน และถูกครอบงำจากชนชั้นสูงเพิ่มขึ้น นักศึกษา ปัญญาชน ก็เป็นพวกเสรีนิยม บริโภคนิยม ปัจเจกชนนิยม เพิ่มขึ้น
 
เรื่องสั้น บทกวี บทละคร ใน ฉันจึงมาหาความหมาย คงไม่อาจสะท้อน สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนได้ทั้งหมด (นอกจากต้องอ่านหนังสือของผู้เขียนอีกราว 120 เล่มด้วย) แต่ถ้าอ่านแบบตั้งใจ ก็พอจะเห็นปัญหาสังคมไทยที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เรื่องแต่งนั้น มุ่งสนองตอบทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้น จึงจะสะท้อนในทางอ้อม ให้ผู้อ่านรู้สึกคิดเอาเองมากกว่าจะบอกทุกอย่าง เรื่องสั้น บทกวี ละครสั้น ที่พยายามสื่อด้วยศิลปะนั้น ผู้อ่านไม่ได้เห็นแค่ตัวคนเขียน แต่จะเห็นตัวเขาเอง คนที่รู้จักและเพื่อนร่วมยุคสมัยของเขาในนั้นด้วย
 
ฉันจึงมาหาความหมายไม่ได้เป็นแค่งานรวมเรื่องแต่งของนักเขียนคนหนึ่ง แต่มันคืองานเขียนที่เป็นตัวแทนความคิด ความใฝ่ฝันของคนทั้งรุ่น (อย่างน้อยพวกนักคิด นักกิจกรรม) ในยุคนั้น จะเรียกพวกเขาว่า คนยุคแสวงหา คนเดือนตุลา นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีความเป็นธรรม หรืออะไรก็ตาม แต่คนพวกนี้มีอยู่จริง เคยมีบทบาทที่ส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทยจริง ปัจจุบันพวกเขาหลายคนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม แต่หลายคนก็ยังคงรักความเป็นธรรม รักสิทธิเสรีภาพและมีอะไรอยู่ลึกๆ ในตัวพวกเขาหรือเธอ ที่คนรุ่นหลังควรจะเรียนรู้ 
 
ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสลับซับซ้อน เราไม่อาจพูดแบบขาวดำได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือคนเดือนตุลา สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์หรือล้มเหลว 0 เปอร์เซ็นต์ ตราบเท่าที่ใครยังมีชีวิต มีความใฝ่ฝัน และยังมีความภูมิใจในตัวเองอยู่ เขาก็ยังคงทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น