วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือดีได้ จึงจะกู้ชาติ (ปฏิรูปประเทศ) ได้


ทำให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือดีได้ จึงจะกู้ชาติ (ปฏิรูปประเทศ) ได้

พัฒนาตนเองและประเทศได้ดีหรือไม่ ประเทศที่คนรักการอ่านมาก มักประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ และพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้มากกว่า ประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรักการอ่าน เช่น ประเทศไทย
 
เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม ได้มากกว่าไทย เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฯลฯ ไทยทั้งผลิตหนังสือต่อปีได้ต่ำ สถิติการอ่านหนังสือ (ต่อหัวประชากรก็ต่ำ) และนักเรียนอายุ 15 ปีของไทย สอบอ่านเอาเรื่องภาษาแม่ ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่านักเรียนวัยเดียวกันที่ทำแบบทดสอบเดียวกัน แต่เป็นภาษาแม่ของนักเรียนแต่ละประเทศ ในการทดสอบตามโครงการ PISA ที่จัดโดยกลุ่ม OECD
 
ประเทศไทยลงทุนทางการศึกษามาก (เฉพาะงบรัฐบาลปีละ 4 แสนล้านบาท หรือ 25% ของงบทั้งหมด) แต่ล้มเหลวในด้านการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงคุณภาพ เด็กออกกลางคันมาก ครูอาจารย์คุณภาพปานกลางถึงต่ำ สอนและสอบแบบท่องจำตามตำรา ทั้งครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา ส่วนใหญ่ไม่รักการอ่าน อ่านจับใจความไม่เก่ง คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ไม่ค่อยเป็น คนส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้นำไม่รักการอ่านและขาดความรู้ในเชิงวิชาการที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ แข่งขันกับคนอื่น หรือแม้แต่รักษาสถานภาพตัวเองไม่ให้ตกต่ำกว่าประเทศอื่นลงไปเรื่อยๆ ได้
 
การรณรงค์ให้คนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรักการอ่าน การใฝ่รู้ รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ทางออกที่สำคัญที่ดีที่สุดในการจะกู้ชาติหรือปฏิรูปประเทศให้พ้นจากความล้าหลังและปัญหาวิกฤติความขัดแย้งในหลายด้าน ปัญหาเศรษฐกิจการเมือง สังคมไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ มาจากความโง่เขลาเบาปัญญา การขาดความรู้ในการมองปัญหาภาพรวม และจิตสำนึกในการปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่รวมทั้งผู้นำ เพราะประชาชนเป็นแบบไหน ก็จะได้ผู้นำแบบนั้น
 
“จะคัดเลือกหนังสือดีและส่งเสริมให้เด็กไทยรักการอ่านได้อย่างไร” คือ ชื่อหัวข้อสัมมนา ที่ผมและคณะวิจัย โครงการหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องเพื่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย จะจัดขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใน วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2555 นี้ เวลา 13.00-17.00 น. ที่ห้องประชุมมีตติ้งรูม 4 คณะนักวิจัยผู้ร่วมอภิปราย คือ พรพิไล เลิศวิชา ปรีดา ปัญญาจันทร์ เกริก ยุ้นพันธ์ จินดา จำเริญ และรพินทร คงสมบูรณ์ ขอเชิญชวนท่านที่ห่วงใยในอนาคตของลูกหลานไทย และเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ไปร่วมกันฟังและเสนอแนะกัน หรือจะส่งข้อเสนอแนะมาทาง E-mail ของผมก็ได้
 
ตอนนี้เรากำลังสำรวจอ่านและคัดเลือกหนังสือดี สำหรับเด็กและเยาวชนไทยตั้งแต่วัยแรกเกิดถึงวัย 18 ปี โดยเน้นงานที่คนไทยเขียน และจะสรุปผลให้เสร็จภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งถัดไปเดือนตุลาคม 2555
 
การคัดเลือกหนังสือดีเพื่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยของเราจะเน้นเรื่องบันเทิงคดี ประเภทการ์ตูน นิทาน นิยาย เรื่องสั้น บทกวี เนื่องจากเราตระหนักว่าหนังสือที่มีศิลปะวรรณกรรมที่ดี จะเป็นหนังสือที่เด็กอยากอ่านเพื่อความสนุก เพลิดเพลิน สนองจินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ซึ่งเป็นบันไดขั้นต้นของการรักการอ่านหนังสือ ได้ดีกว่าหนังสือประเภทสารคดีหรือตำราเรียนแบบเก่า ที่เน้นเนื้อหาสาระมากกว่าเพื่อความบันเทิง (ในต่างประเทศเขาทำตำราหนังสือสารคดีที่อ่านได้ง่าย สนุก เพิ่มขึ้นมาก)
 
สำหรับเกณฑ์คัดเลือกหนังสือดีเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย เราวางไว้ดังนี้ คือ
 
1. เป็นหนังสือเล่ม ประเภทเรื่องแต่งหรือบันเทิงคดี (นิทาน นิยาย การ์ตูน เรื่องสั้น บทกวี) ที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนไทย ไม่จำกัดยุคสมัย
 
2. เป็นวรรณกรรมที่ดี คือ มีศิลปะในการเขียนที่ดี มีความงาม ความไพเราะ ความสะเทือนอารมณ์ อ่านได้สนุกเพลิดเพลิน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมความเข้าใจชีวิตและสังคม เสริมสร้างภูมิปัญญา จินตนาการ และค่านิยมที่ดี (ช่วยพัฒนาตนเองและอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างสันติสุข)
 
3. มีเนื้อหา ท่วงทำนอง ภาพประกอบที่สามารถสนองความเข้าใจของนักอ่านกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับวัย กระตุ้นจินตนาการ และการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและโลกที่ผู้อ่านในวัยนั้นรู้สึกเชื่อมโยงด้วย มีลักษณะเป็นวรรณกรรมเด็กและเยาวชน เช่น ตัวละครและเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กเยาวชน หรือสิ่งมีชีวิตอื่นที่เด็กเยาวชนรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ สั้น กระชับ ง่าย ลำดับเรื่องดี มีเหตุการณ์ บทสนทนาที่เคลื่อนไหว มองโลกในแง่ดี มีคติสอนใจ มีความสนุกเพลิดเพลิน เร้าใจ ชวนให้ติดตาม
 
4. มีเนื้อหาสาระที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตและสังคมวัฒนธรรมไทยและโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น และหรืออยากอ่านหนังสือวรรณกรรมที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นต่อไป
 
ขณะนี้ โครงการหนังสือดี ของเราได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ช่วยคัดเลือกและส่งหนังสือมาให้เราพิจารณาแล้วส่วนหนึ่ง คือ สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก สำนักพิมพ์ห้องเรียน สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก สำนักพิมพ์แสงดาว สำนักพิมพ์ชนนิยม สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991 สำนักพิมพ์แจ่มใส และสำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์ ผู้อ่านบางท่านก็เสนอรายชื่อหนังสือที่ท่านคิดว่าดีมาที่เราด้วย
 
เราหวังว่าการคัดเลือกหนังสือดีเพื่อเด็กและเยาวชน เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเยาวชนของเรารักการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผมก็จะเขียนบทวิจัยด้วยว่า เราจะแก้ปัญหาคนไทยอ่านหนังสือน้อย และกระตุ้นให้คนไทยรักการอ่านหนังสือดีเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
ที่มา : 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น