วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ต่อจากตอนที่แล้ว คือเลือด และลมหายใจของ "นักเรียน"

ครูครับวันเวลาที่การเรียนรู้มีรสชาติจัดจ้านกำลังถอยเลื่อนห่างออกไป เราอาจเคยหยอกล้อกันว่าเด็กสมัยนี้ไม่รู้จักตัวเขายาว ๆ ที่ช่วยเราทำนา

บางที่ บางห้อง ในโรงเรียนของเรา เด็ก ๆ อาจแยกไม่ได้ว่าไหนปลาหมอ ไหนปลาตะเพียน

และสิ่งที่เราน่าจะเห็นว่าหนักหนากว่าการไม่รู้จักชนิดปลา คือการที่เด็ก ๆ ไม่ตื่นเต้นกับชีวิตอีกต่อไป

ไม่สงสัยว่าทำไมปลาดุกถึงได้ชื่อว่าปลาดุก ไม่รู้สึกถึงความเสี่ยงอันเร้าใจของการพยายามจับปลาดุกโดยไม่ให้ถูกเงี่ยงมันยักเนื้อเอา แล้วได้รสชาติชีวิตของความปวดระบบเมื่อพลาดแพ้ทางปลา

ไม่เคยได้กลิ่นเลือดเมื่อผ่าพุงพุงปลา ไม่เคยมองหนวดของปลาที่ทำให้มันได้ชื่อว่า cat fish 

ครูครับ ในวันที่เราเรียนวรรณคดีไทยและได้อ่านบทชมปลา หากว่าเรามีปลาตัวเล็ก ๆ ในกะละมังเก่า ๆ วางกลางห้องสักใบ เราอาจจะได้แววตาสุกสว่างอย่างกับเทียนในกระทงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองคืนมาสักยี่สิบสามสิบคู่

วันที่เราเรียนวิทยาศาสตร์ การได้เห็นปลาช่อนซุกลงในโคลน ปลาดุกกระโจนออกมานอกขัน ปลาหมอสะบัดตัวเอาครีบเดินต่างเท้าอาจทำให้เราได้ "นักเรียน" ที่มีสายเลือดอยากรู้เข้มข้นกลับมาอีกสักโหลสองโหล

ครูครับเด็ก ๆ ของเราย่อมต้องเรียนมากกว่า หนังสือมากกว่า Google และ Wikipedia

คนจริงนั้นไม่ได้อ่านหนังสือ แต่อ่าน ชีวิต ไปด้วยเสมอ

ครูครับ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเอาชนะความกลัวและความขยะแขยงที่มาพร้อมเมือกและกลิ่นคาวปลา เธอพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะเอาปลาตัวเล็ก ๆ ที่กระโดดลงพื้นไปคืนกะละมัง

เราตีค่าความเมตตาเป็นตัวเงินไม่ได้

ความเมตตาที่คุกรุ่นจนทำให้นักเรียนคนหนึ่งทิ้งความขยะแขยง และเลือกลงมือช่วยชีวิตปลานั้น อาจเป็นเลือดและลมหายใจของหมอคนหนึ่งในอนาคต

ครูจับปลาใส่ถัง ยกเข้าไปสอนสักวันนะครับ...ครู





ที่มา : จดหมายข่าวราย 2 เดือน "ชนวน" ธันวาคม พ.ศ.2554-มกราคม พ.ศ. 2555 โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คือเลือด และลมหายใจของ "นักเรียน"

คือเลือด และลมหายใจของ "นักเรียน"

ครูครับ

ครูว่าปลาตัวเล็ก ๆขนาดเท่านิ้วก้อยตัวหนึ่งจะทำให้ห้องเรียนเปลี่ยนไปได้ขนาดไหน ?

ห้องเรียนของเราเป็นที่เรียนของ "นักเรียน" ซึ่งเหมือนนักว่ายน้ำ นักดาบ นักคิด นักเขียน ฯลฯ ตรงที่ว่า นักว่ายน้ำก็ว่ายน้ำมาก นักเขียนเขียนเยอะ นักดาบฟันดาบเสมอ

นักเรียน เรียน. (ใส่จุดไปหนึ่งจุด แปลว่า แน่นอน)

ตรงไปตรงมาเหมือนที่ นักมวยขึ้นชก เด็ก ๆ ของเราเรียน...

เมื่อนานมาแล้วนักเรียนของเราใกล้ชิดโลกอย่างยิ่ง เอามือกอบดินกอบทราย ปีนขึ้นไปนั่งวัดใจตัวเองบนกิ่งไม้สูง กระโจนลงน้ำ ที่ก็ไม่รู้ว่าสายน้ำริมตลิ่ง ซึ่งน้ำไม่ได้กรองจนใสนั่นจะมีอะไรอยู่บ้าง ฯลฯ แล้วก็มาเรียน "หนังสือ" เอาในห้องเรียน

นานมาแล้ว หนังสือไม่ใช่ของหาง่าย ไม่มีหนังสือพิมพ์วางที่ร้านอาหารตามสั่งเหมือนเดี๋ยวนี้

สมุดไทยเมื่อก่อนเป็นใบลาน จารลงทีละอักษร กว่าจะได้สักเล่ม กินแรง กินเวลา พึ่งฝีมือ

เมื่อหนังสือหายาก ก็เลยต้องยกโขยงกันมาอาศัยหนังสือจากโรงเรียน ซึ่งเมื่อก่อนมีครูห่มจีวร

วันเรียนจบจากโรงเรียนวัดอย่างนั้น อาจไม่มีประกาศนียบัตร แต่ได้น้ำมนตร์ปลุกเสก พรมให้

ครูครับ ทุกวันนี้หนังสืออยู่ในทุกที่ ผู้คนพิมพ์ใบปลิวแจกกัน ให้คนรับหยิบมามอง เดินไปอีกนิดก็หย่อนลงถังขยะ หนังสือพิมพ์มีไว้ปูนั่ง และนิตยสารเอาไว้บังแดด นักเรียนของเราไม่ได้ขาด "หนังสือ" อีกต่อไป

สิ่งที่หายไปจากชีวิตของเด็ก ๆ เดี๋ยวนี้คือ ความสะใจจากการได้ไล่จับปลาช่อนที่สะบัดหางฟาดโคลนกระจาย ความลุ้นระทึกจากการที่ย่องเข้าไปใกล้กอสวะเพื่อจะจ้วงถังหรือกะละมังรั่วจับปลากัดที่ค่อย ๆ ลอยตัวขึ้นมาคายลมสักฟอง ก่อนจะว่ายพริ้วลงไปตามซอกระหว่างก้านต้นกก

ครูครับ เด็ก ๆ ของเราคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์มากกว่าสารบาญหน้าต้น ๆ หลังปกหน้าของหนังสือ นักเรียนของเราเลิกใช้สายตาอย่างเหยี่ยวที่เคยจับเงาของปลากรายที่คล้ายกับผ้าสีดำสนิทกลางลำน้ำสายกว้าง มองหาเพียงว่าจะ copy ตรงไหนไปแปะในรายงานดี

นักเรียนของเราเลิกแล้ว

ตั้งเจตนาอยู่เพียงว่า ทำการบ้านให้เสร็จ ทำข้อสอบให้ถูก ทำเกรดให้สูง

เด็ก ๆ ของเราขยะแขยงเมื่อจับโดนเมือกที่ตัวปลา เกลียดอาการซัดส่ายของปลาไหล ไม่เคยสบโอกาสได้เห็นลูกปลาช่อนเป็นร้อยเป็นพัวที่จับฝูงเป็นก้อนปลาว่ายกรู ๆ สีแสด โดยมีแม่ปลาที่ดุและกล้าหาญคอยดูลาดเลาอยู่แถวกอผักตบชวาแถวนั้น ถ้าปลาอื่นแหวกหญ้าเข้ามา แม่ปลาจะพุ่งเข้าชาร์จ อย่างกับสิงโตที่เห็นหมาทำม่าจะฟัดคอลูกสิงห์




โปรดติดตามต่อ......