วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ต่อจากตอนที่แล้ว คือเลือด และลมหายใจของ "นักเรียน"

ครูครับวันเวลาที่การเรียนรู้มีรสชาติจัดจ้านกำลังถอยเลื่อนห่างออกไป เราอาจเคยหยอกล้อกันว่าเด็กสมัยนี้ไม่รู้จักตัวเขายาว ๆ ที่ช่วยเราทำนา

บางที่ บางห้อง ในโรงเรียนของเรา เด็ก ๆ อาจแยกไม่ได้ว่าไหนปลาหมอ ไหนปลาตะเพียน

และสิ่งที่เราน่าจะเห็นว่าหนักหนากว่าการไม่รู้จักชนิดปลา คือการที่เด็ก ๆ ไม่ตื่นเต้นกับชีวิตอีกต่อไป

ไม่สงสัยว่าทำไมปลาดุกถึงได้ชื่อว่าปลาดุก ไม่รู้สึกถึงความเสี่ยงอันเร้าใจของการพยายามจับปลาดุกโดยไม่ให้ถูกเงี่ยงมันยักเนื้อเอา แล้วได้รสชาติชีวิตของความปวดระบบเมื่อพลาดแพ้ทางปลา

ไม่เคยได้กลิ่นเลือดเมื่อผ่าพุงพุงปลา ไม่เคยมองหนวดของปลาที่ทำให้มันได้ชื่อว่า cat fish 

ครูครับ ในวันที่เราเรียนวรรณคดีไทยและได้อ่านบทชมปลา หากว่าเรามีปลาตัวเล็ก ๆ ในกะละมังเก่า ๆ วางกลางห้องสักใบ เราอาจจะได้แววตาสุกสว่างอย่างกับเทียนในกระทงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองคืนมาสักยี่สิบสามสิบคู่

วันที่เราเรียนวิทยาศาสตร์ การได้เห็นปลาช่อนซุกลงในโคลน ปลาดุกกระโจนออกมานอกขัน ปลาหมอสะบัดตัวเอาครีบเดินต่างเท้าอาจทำให้เราได้ "นักเรียน" ที่มีสายเลือดอยากรู้เข้มข้นกลับมาอีกสักโหลสองโหล

ครูครับเด็ก ๆ ของเราย่อมต้องเรียนมากกว่า หนังสือมากกว่า Google และ Wikipedia

คนจริงนั้นไม่ได้อ่านหนังสือ แต่อ่าน ชีวิต ไปด้วยเสมอ

ครูครับ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเอาชนะความกลัวและความขยะแขยงที่มาพร้อมเมือกและกลิ่นคาวปลา เธอพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะเอาปลาตัวเล็ก ๆ ที่กระโดดลงพื้นไปคืนกะละมัง

เราตีค่าความเมตตาเป็นตัวเงินไม่ได้

ความเมตตาที่คุกรุ่นจนทำให้นักเรียนคนหนึ่งทิ้งความขยะแขยง และเลือกลงมือช่วยชีวิตปลานั้น อาจเป็นเลือดและลมหายใจของหมอคนหนึ่งในอนาคต

ครูจับปลาใส่ถัง ยกเข้าไปสอนสักวันนะครับ...ครู





ที่มา : จดหมายข่าวราย 2 เดือน "ชนวน" ธันวาคม พ.ศ.2554-มกราคม พ.ศ. 2555 โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คือเลือด และลมหายใจของ "นักเรียน"

คือเลือด และลมหายใจของ "นักเรียน"

ครูครับ

ครูว่าปลาตัวเล็ก ๆขนาดเท่านิ้วก้อยตัวหนึ่งจะทำให้ห้องเรียนเปลี่ยนไปได้ขนาดไหน ?

ห้องเรียนของเราเป็นที่เรียนของ "นักเรียน" ซึ่งเหมือนนักว่ายน้ำ นักดาบ นักคิด นักเขียน ฯลฯ ตรงที่ว่า นักว่ายน้ำก็ว่ายน้ำมาก นักเขียนเขียนเยอะ นักดาบฟันดาบเสมอ

นักเรียน เรียน. (ใส่จุดไปหนึ่งจุด แปลว่า แน่นอน)

ตรงไปตรงมาเหมือนที่ นักมวยขึ้นชก เด็ก ๆ ของเราเรียน...

เมื่อนานมาแล้วนักเรียนของเราใกล้ชิดโลกอย่างยิ่ง เอามือกอบดินกอบทราย ปีนขึ้นไปนั่งวัดใจตัวเองบนกิ่งไม้สูง กระโจนลงน้ำ ที่ก็ไม่รู้ว่าสายน้ำริมตลิ่ง ซึ่งน้ำไม่ได้กรองจนใสนั่นจะมีอะไรอยู่บ้าง ฯลฯ แล้วก็มาเรียน "หนังสือ" เอาในห้องเรียน

นานมาแล้ว หนังสือไม่ใช่ของหาง่าย ไม่มีหนังสือพิมพ์วางที่ร้านอาหารตามสั่งเหมือนเดี๋ยวนี้

สมุดไทยเมื่อก่อนเป็นใบลาน จารลงทีละอักษร กว่าจะได้สักเล่ม กินแรง กินเวลา พึ่งฝีมือ

เมื่อหนังสือหายาก ก็เลยต้องยกโขยงกันมาอาศัยหนังสือจากโรงเรียน ซึ่งเมื่อก่อนมีครูห่มจีวร

วันเรียนจบจากโรงเรียนวัดอย่างนั้น อาจไม่มีประกาศนียบัตร แต่ได้น้ำมนตร์ปลุกเสก พรมให้

ครูครับ ทุกวันนี้หนังสืออยู่ในทุกที่ ผู้คนพิมพ์ใบปลิวแจกกัน ให้คนรับหยิบมามอง เดินไปอีกนิดก็หย่อนลงถังขยะ หนังสือพิมพ์มีไว้ปูนั่ง และนิตยสารเอาไว้บังแดด นักเรียนของเราไม่ได้ขาด "หนังสือ" อีกต่อไป

สิ่งที่หายไปจากชีวิตของเด็ก ๆ เดี๋ยวนี้คือ ความสะใจจากการได้ไล่จับปลาช่อนที่สะบัดหางฟาดโคลนกระจาย ความลุ้นระทึกจากการที่ย่องเข้าไปใกล้กอสวะเพื่อจะจ้วงถังหรือกะละมังรั่วจับปลากัดที่ค่อย ๆ ลอยตัวขึ้นมาคายลมสักฟอง ก่อนจะว่ายพริ้วลงไปตามซอกระหว่างก้านต้นกก

ครูครับ เด็ก ๆ ของเราคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์มากกว่าสารบาญหน้าต้น ๆ หลังปกหน้าของหนังสือ นักเรียนของเราเลิกใช้สายตาอย่างเหยี่ยวที่เคยจับเงาของปลากรายที่คล้ายกับผ้าสีดำสนิทกลางลำน้ำสายกว้าง มองหาเพียงว่าจะ copy ตรงไหนไปแปะในรายงานดี

นักเรียนของเราเลิกแล้ว

ตั้งเจตนาอยู่เพียงว่า ทำการบ้านให้เสร็จ ทำข้อสอบให้ถูก ทำเกรดให้สูง

เด็ก ๆ ของเราขยะแขยงเมื่อจับโดนเมือกที่ตัวปลา เกลียดอาการซัดส่ายของปลาไหล ไม่เคยสบโอกาสได้เห็นลูกปลาช่อนเป็นร้อยเป็นพัวที่จับฝูงเป็นก้อนปลาว่ายกรู ๆ สีแสด โดยมีแม่ปลาที่ดุและกล้าหาญคอยดูลาดเลาอยู่แถวกอผักตบชวาแถวนั้น ถ้าปลาอื่นแหวกหญ้าเข้ามา แม่ปลาจะพุ่งเข้าชาร์จ อย่างกับสิงโตที่เห็นหมาทำม่าจะฟัดคอลูกสิงห์




โปรดติดตามต่อ......

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาพงานประชุมสัมมนา เรื่อง "ระบบโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลกจะทำให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร" (How the world's most improved school systems keep getting better) วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 55 โรงแรมเอส.ดี.อเวนิว กรุงเทพฯ





วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ถ้าทำให้คนไทยรักการอ่านได้ก็จะปฏิรูปประเทศไทยได้


ถ้าทำให้คนไทยรักการอ่านได้ก็จะปฏิรูปประเทศไทยได้

และถูกประเทศอื่นแซงหน้าในแง่การพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม เราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ เราถึงจะปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของทั้งประเทศได้
 
สมองเด็กไทยก่อนเข้าโรงเรียนโดยทั่วไปคงไม่โง่ต่างจากเด็กชาติอื่นๆ นัก ยกเว้นเด็กยากจนที่ขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์บางอย่าง รัฐบาลควรจะลงทุนช่วยเหลือผู้หญิงท้องที่รายได้ต่ำและการพัฒนาต่ำ มากกว่าเรื่องทางกายภาพ คือ ต้องพัฒนาด้านความรู้ ทั้งแม่พ่อและเด็กเกิดใหม่ ส่งเสริมให้เด็กฉลาดได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง นอกจากเรื่องให้แม่และลูกได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์แล้ว การที่แม่มีอารมณ์ดี พยายามสื่อสารพูดคุยกับลูกในท้อง เปิดเพลงคลาสสิกแนบท้องให้ลูกฟัง ฯลฯ เป็นวิธีการที่ช่วยให้เซลล์สมองของเด็กเติบโตได้มากขึ้น
 
ที่สำคัญ คือ ต้องให้การศึกษาทั้งแม่และพ่อให้รู้จักเลี้ยงดูลูกเล็ก แบบส่งเสริมการพัฒนาของสมอง
ซึ่งพร้อมจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย สมองของเด็กตั้งแต่เกิดถึงวัย 5-6 ขวบนั้น เรียนรู้เติบโตได้รวดเร็วและมากที่สุด ถ้าพ่อแม่มีความรู้ความเอาใจใส่ ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัส อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการพูดคุย การเล่น การฟังและการร้องเพลง ดนตรี นิทาน ฯลฯ จะส่งเสริมให้เด็กพัฒนาสมองและการเรียนรู้ได้ดี อยากรู้อยากเห็น เรียนรู้ภาษาพูดได้ดีและจะพัฒนาเป็นการอยากเรียนรู้ภาษาอ่านและเขียนได้ต่อไป
 
ปัญหาใหญ่ คือ ทั้งพ่อแม่รวมทั้งพี่เลี้ยงเด็ก ครู มักจะคิดว่าเด็กเล็กยังโง่ไม่รู้อะไร ยังไม่จำเป็นต้องเรียนอะไรมาก แค่ดูแลทางกายภาพให้กินอยู่ขับถ่ายนอน และไม่เกิดอุบัติเหตุ อยู่รอดได้ก็เพียงพอแล้ว แต่นี่ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ปัญหาคือเพราะผู้ใหญ่ของเราไม่ค่อยฉลาด ถูกเลี้ยงมาอย่างไม่ฉลาดและก็เลี้ยงลูกของตนด้วยวิธีเก่าๆ เท่าที่จำได้ว่าตนเคยถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร พ่อแม่ส่วนใหญ่ ให้คนอื่นเลี้ยงลูกสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่ดูแลเรื่องสุขภาพทางกายและหรือสอนหนังสือแบบเก่ามากกว่าการพัฒนาการเรียนรู้แบบมุ่งความพร้อมทุกด้านอย่างเข้าใจเรื่องจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
 
เด็กเรียนรู้ภาษาพูดได้อย่างรวดเร็วโดยธรรมชาติเพราะเขาอยากรู้ อยากสื่อสารกับคนอื่นอยู่แล้ว แต่ที่เด็กไทยเรียนรู้ภาษาเขียนหรือการอ่านได้ไม่เก่งนัก หรือไม่ได้รักการอ่าน เพราะพวกเขาไม่ได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม พ่อแม่ที่มีการศึกษาเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อ่านนิทานให้ลูกเล็กฟังจะช่วยให้เด็กรักถ้อยคำที่มีความหมาย สนุกเพลิดเพลินและรักการอ่านได้มากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่อ่านไม่สนใจหนังสือ โรงเรียนอาจช่วยได้ ถ้ามีครูที่รักการอ่านและตั้งใจสอนให้เด็กรักการอ่าน มากกว่าสอนภาษาไทยแบบเน้นถูกหลักไวยากรณ์ แต่ประเทศไทยที่มีครูแบบนี้น้อยเกินไป
 
การจะปฏิรูปให้เด็กไทยรักการอ่านต้องปฏิรูปครูและการสอนภาษาวรรณกรรมไทยอย่างขนานใหญ่ การทำให้เด็กตั้งแต่อนุบาลและประถมต้นเรียนรู้ที่จะอ่านหนังสือไทยแบบจับใจความได้ดี สนุกเพลิดเพลินกับการอ่าน รักการอ่าน เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กไปเรียนรู้วิชาอื่นๆ ได้ดีขึ้น ผู้บริหารประเทศส่วนใหญ่เข้าใจว่าต้องให้เด็กไทยเก่งภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เราถึงจะแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้ดีขึ้น แต่ถ้าเด็กไม่เริ่มจากการเข้าใจภาษาไทยได้ดี และรักการอ่าน เด็กจะเก่งวิชาอื่นๆ ได้อย่างไร 
 
ในการสอบเปรียบเทียบในโครงการ PISA ขององค์กร OECD ที่สอบเปรียบเทียบเด็กอายุ 15 ปีวัยใกล้จบการศึกษาภาคบังคับ เด็กไทยส่วนใหญ่เรียนไม่เก่งทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เมื่อเทียบกับเด็กประเทศอื่น เรื่องการอ่านเด็กแต่ละประเทศสอบภาษาแม่ของตนเอง เด็กไทยสอบภาษาไทย แต่เป็นการสอบแบบอ่านเอาเรื่อง หรืออ่านแล้วเข้าใจจับเรื่องราวประเด็นที่สำคัญได้ เด็กไทยสอบได้ระดับต่ำมากในการสอบทั้ง 3-4 ครั้งในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ พยายามปฏิรูปวิธีการสอนการเรียนเพื่อที่จะให้นักเรียนของเขาที่ทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้วทำได้ดีขึ้นอีก ประเทศไทยไม่ได้สนใจปัญหานี้ และไม่ได้มีการปฏิรูปเรื่องวิธีการสอนการเรียนแต่อย่างใด
 
ในปี 2555 นี้ ผมและทีมงานกำลังจะทำงานวิจัย โครงการคัดเลือกและส่งเสริมการรักการอ่านหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยจะทำงาน 2 ชิ้นควบคู่ไป คือ 1. คัดเลือกและเขียนคำแนะนำหนังสือดี 100 เล่ม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนไทย 2. บทวิจัยเรื่องปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาการที่คนไทยรักการอ่านน้อย          
ผู้สนใจในเรื่องนี้เสนอความคิดเห็นมาทาง EMAIL ได้ที่ WIT139@HOTMAIL.COM หรือส่งไปรษณีย์มาที่ผม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก ถนนพหลโยธิน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 10200 โทรสาร 0-2533-9697

มองสังคมไทยผ่านหนังสือ “ฉันจึงมาหาความหมาย”


มองสังคมไทยผ่านหนังสือ “ฉันจึงมาหาความหมาย”

และพิมพ์ครั้งที่ 18 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน เมื่อเร็วๆ นี้ ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดได้รวมเรื่องแต่งยุคหลังจากผู้เขียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว (2512-2527) และเคยพิมพ์เป็นเล่มต่างหากชื่อ “ฝันของเด็กชาวนา” ไว้ด้วย เพราะเห็นว่าเป็นงานต่อเนื่องกัน และการแสวงหาความหมายเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่เฉพาะช่วงการเป็นนักศึกษาปริญญาตรีเท่านั้น
 
วลี “ฉันจึงมาหาความหมาย” มาจากบทกวีวรรคหนึ่ง ในบทกวี ชื่อ “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ที่คนนิยมอ้างถึงบทหนึ่ง ที่มี 4 วรรค “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง / ฉันจึง มาหา ความหมาย / ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย / สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว/” นี่เป็นเพียงบทหนึ่งของงานทั้งชิ้น ซึ่งมี 7 บทด้วยกัน (พิมพ์ครั้งแรกปี 2511) ควรอ่านทั้ง 7 บท จึงจะเข้าใจความหมายที่ผู้เขียน (ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษา) ต้องการสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์
 
“ฉันจึงมาหาความหมาย” หรืออีกวลีหนึ่ง คือ “ยุคแสวงหา” ถูกนักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์วรรณกรรมใช้เป็นชื่อยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวไทยในช่วงปี พ.ศ. 2507-2515 เริ่มตื่นตัว ตั้งคำถาม แสวงหาความหมายเรื่องชีวิตและสังคม หลังจากที่สังคมไทยได้ผ่านพ้นยุคเผด็จการจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2501-2506) ที่บางคนเรียกว่ายุคเงียบหรือยุคสายลมแสงแดด และกำลังพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยแบบทุนนิยมบริวาร ที่เอารัดเอาเปรียบและสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
 
ยุคแสวงหา / ฉันจึงมาหาความหมาย คือ ยุคการตั้งคำถาม การถกเถียง ก่อตัวทางความคิดและจิตสำนึกของปัญญาชนหนุ่มสาว กลุ่มนักเขียน นักกิจกรรม ที่นำไปสู่การเรียกร้องความเป็นธรรมและต่อมา คือ ประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 
 
ประเด็นที่คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันสงสัย ชอบตั้งคำถามกับคนรุ่นเรามาก คือ แล้วสังคมไทยในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ดีขึ้น เลวลง หรือก็เหมือนเดิม แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก?
 
ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 เรามีโอกาสปฏิรูปสังคมไทยให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้มาก นักศึกษาตื่นตัว มีอุดมคติสูง แต่ชนชั้นนำไทยที่จารีตนิยมสุดโต่งมาก ได้ทำลายโอกาสนี้ พวกเขาเข่นฆ่านักศึกษา ประชาชน บีบคั้นให้นักศึกษาเอียงซ้ายสุดโต่งอย่างไม่มีทางเลือก ความล้มเหลวของพรรคฝ่ายสังคมนิยมในเวลาต่อมา ทำให้ทุนนิยมอุตสาหกรรมยิ่งเฟื่องฟู และสร้างปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งกว่าในยุคก่อนปี 2516
 
ปัญหาใหญ่ที่ประชาชนยังเอาชนะไม่ได้ คือ สังคมไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง แบบผูกขาดอำนาจ โดยคนกลุ่มน้อย มีโครงสร้างความคิด ค่านิยม จารีตนิยม ล้าหลังมาก ไม่รักการอ่าน คิดวิเคราะห์ ไม่มีแนวคิดเชิงปฏิรูป ไม่ขวนขวายทำจริงอย่างต่อเนื่อง ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล คนบางคน ถ้าเห็นความไม่เป็นธรรมชัดๆ อาจเข้ามาช่วย แต่ผ่านไปแล้วก็เลิกรากันไป ไม่คิดทำต่อเนื่องอย่างลึกซึ้ง 
 
เรื่องแต่งใน ฉันจึงมาหาความหมาย ชุดแรก (2508-2512) สะท้อนปัญหาชีวิตและการคิดของคนทั้งในเมืองและชนบท ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่องว่าง ความแปลกแยก ตั้งคำถามหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมากนัก ผู้เขียนในตอนนั้นเป็นคนหนุ่มที่มีแนวคิดมนุษยนิยม รักความเป็นธรรม ความถูกต้อง สันติภาพ ยังไม่มีแนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือสังคมนิยม เพราะยุคนั้นเป็นยุคเผด็จการ คนไทยไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิต หนังสือทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ก้าวหน้า ซึ่งเพิ่งจะกลับมาฟื้นฟูกันใหม่ในช่วงใกล้ และหลัง 14 ตุลาคม 2516
 
เรื่องแต่งของผู้เขียนในชุดที่ 2 ช่วงมาทำงานด้านหนังสือและวิชาการ (ปี 2512-2527) มีบางอย่างที่ต่างไปชุดแรก ช่วงปี 2516-2519 งานบางชิ้นได้อิทธิพลวรรณกรรมเพื่อชีวิตของฝ่ายสังคมนิยมอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นการผสมผสานความคิดและประสบการณ์ที่ผู้เขียนมองเห็นคนอื่นนอกจากตัวเองเพิ่มขึ้น โกรธเกรี้ยว/หงุดหงิดน้อยลง เมื่อเทียบกับงานช่วงเป็นนักศึกษา มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอาจไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่มุมมอง วิธีการมองของผู้เขียนค่อยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สุขุมขึ้น
 
40 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ยังเป็นผู้ชนะอยู่ ประชาชนอาจได้ประโยชน์บ้างในเชิงเปรียบเทียบ เช่น ประชาชนที่เคยอยู่ในเขตที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ ไม่ต้องอยู่ใต้ความหวาดกลัวทหารทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนในยุคสงครามกลางเมือง (พ.ศ. 2507-2523) ประชาชนในชนบทได้พัฒนาทางวัตถุ พ้นจากความขาดแคลนยากจนแบบดั้งเดิมบ้าง แต่ก็ต้องเจอความยากจนแบบใหม่ที่ต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ช่องว่างของคนต่างกลุ่มเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่องฐานะ รายได้ เท่านั้น เรื่องการศึกษา ฐานะทางสังคมของคนไทย ก็แตกต่างกันมากขึ้น คนจนนอกจากจะจนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังจนด้านความรู้ ความคิด ความอ่าน และถูกครอบงำจากชนชั้นสูงเพิ่มขึ้น นักศึกษา ปัญญาชน ก็เป็นพวกเสรีนิยม บริโภคนิยม ปัจเจกชนนิยม เพิ่มขึ้น
 
เรื่องสั้น บทกวี บทละคร ใน ฉันจึงมาหาความหมาย คงไม่อาจสะท้อน สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนได้ทั้งหมด (นอกจากต้องอ่านหนังสือของผู้เขียนอีกราว 120 เล่มด้วย) แต่ถ้าอ่านแบบตั้งใจ ก็พอจะเห็นปัญหาสังคมไทยที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เรื่องแต่งนั้น มุ่งสนองตอบทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้น จึงจะสะท้อนในทางอ้อม ให้ผู้อ่านรู้สึกคิดเอาเองมากกว่าจะบอกทุกอย่าง เรื่องสั้น บทกวี ละครสั้น ที่พยายามสื่อด้วยศิลปะนั้น ผู้อ่านไม่ได้เห็นแค่ตัวคนเขียน แต่จะเห็นตัวเขาเอง คนที่รู้จักและเพื่อนร่วมยุคสมัยของเขาในนั้นด้วย
 
ฉันจึงมาหาความหมายไม่ได้เป็นแค่งานรวมเรื่องแต่งของนักเขียนคนหนึ่ง แต่มันคืองานเขียนที่เป็นตัวแทนความคิด ความใฝ่ฝันของคนทั้งรุ่น (อย่างน้อยพวกนักคิด นักกิจกรรม) ในยุคนั้น จะเรียกพวกเขาว่า คนยุคแสวงหา คนเดือนตุลา นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีความเป็นธรรม หรืออะไรก็ตาม แต่คนพวกนี้มีอยู่จริง เคยมีบทบาทที่ส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทยจริง ปัจจุบันพวกเขาหลายคนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม แต่หลายคนก็ยังคงรักความเป็นธรรม รักสิทธิเสรีภาพและมีอะไรอยู่ลึกๆ ในตัวพวกเขาหรือเธอ ที่คนรุ่นหลังควรจะเรียนรู้ 
 
ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสลับซับซ้อน เราไม่อาจพูดแบบขาวดำได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือคนเดือนตุลา สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์หรือล้มเหลว 0 เปอร์เซ็นต์ ตราบเท่าที่ใครยังมีชีวิต มีความใฝ่ฝัน และยังมีความภูมิใจในตัวเองอยู่ เขาก็ยังคงทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ได้ต่อไป

ทำให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือดีได้ จึงจะกู้ชาติ (ปฏิรูปประเทศ) ได้


ทำให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือดีได้ จึงจะกู้ชาติ (ปฏิรูปประเทศ) ได้

พัฒนาตนเองและประเทศได้ดีหรือไม่ ประเทศที่คนรักการอ่านมาก มักประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ และพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้มากกว่า ประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรักการอ่าน เช่น ประเทศไทย
 
เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม ได้มากกว่าไทย เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฯลฯ ไทยทั้งผลิตหนังสือต่อปีได้ต่ำ สถิติการอ่านหนังสือ (ต่อหัวประชากรก็ต่ำ) และนักเรียนอายุ 15 ปีของไทย สอบอ่านเอาเรื่องภาษาแม่ ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่านักเรียนวัยเดียวกันที่ทำแบบทดสอบเดียวกัน แต่เป็นภาษาแม่ของนักเรียนแต่ละประเทศ ในการทดสอบตามโครงการ PISA ที่จัดโดยกลุ่ม OECD
 
ประเทศไทยลงทุนทางการศึกษามาก (เฉพาะงบรัฐบาลปีละ 4 แสนล้านบาท หรือ 25% ของงบทั้งหมด) แต่ล้มเหลวในด้านการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงคุณภาพ เด็กออกกลางคันมาก ครูอาจารย์คุณภาพปานกลางถึงต่ำ สอนและสอบแบบท่องจำตามตำรา ทั้งครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา ส่วนใหญ่ไม่รักการอ่าน อ่านจับใจความไม่เก่ง คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ไม่ค่อยเป็น คนส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้นำไม่รักการอ่านและขาดความรู้ในเชิงวิชาการที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ แข่งขันกับคนอื่น หรือแม้แต่รักษาสถานภาพตัวเองไม่ให้ตกต่ำกว่าประเทศอื่นลงไปเรื่อยๆ ได้
 
การรณรงค์ให้คนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรักการอ่าน การใฝ่รู้ รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ทางออกที่สำคัญที่ดีที่สุดในการจะกู้ชาติหรือปฏิรูปประเทศให้พ้นจากความล้าหลังและปัญหาวิกฤติความขัดแย้งในหลายด้าน ปัญหาเศรษฐกิจการเมือง สังคมไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ มาจากความโง่เขลาเบาปัญญา การขาดความรู้ในการมองปัญหาภาพรวม และจิตสำนึกในการปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่รวมทั้งผู้นำ เพราะประชาชนเป็นแบบไหน ก็จะได้ผู้นำแบบนั้น
 
“จะคัดเลือกหนังสือดีและส่งเสริมให้เด็กไทยรักการอ่านได้อย่างไร” คือ ชื่อหัวข้อสัมมนา ที่ผมและคณะวิจัย โครงการหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องเพื่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย จะจัดขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใน วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2555 นี้ เวลา 13.00-17.00 น. ที่ห้องประชุมมีตติ้งรูม 4 คณะนักวิจัยผู้ร่วมอภิปราย คือ พรพิไล เลิศวิชา ปรีดา ปัญญาจันทร์ เกริก ยุ้นพันธ์ จินดา จำเริญ และรพินทร คงสมบูรณ์ ขอเชิญชวนท่านที่ห่วงใยในอนาคตของลูกหลานไทย และเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ไปร่วมกันฟังและเสนอแนะกัน หรือจะส่งข้อเสนอแนะมาทาง E-mail ของผมก็ได้
 
ตอนนี้เรากำลังสำรวจอ่านและคัดเลือกหนังสือดี สำหรับเด็กและเยาวชนไทยตั้งแต่วัยแรกเกิดถึงวัย 18 ปี โดยเน้นงานที่คนไทยเขียน และจะสรุปผลให้เสร็จภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งถัดไปเดือนตุลาคม 2555
 
การคัดเลือกหนังสือดีเพื่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยของเราจะเน้นเรื่องบันเทิงคดี ประเภทการ์ตูน นิทาน นิยาย เรื่องสั้น บทกวี เนื่องจากเราตระหนักว่าหนังสือที่มีศิลปะวรรณกรรมที่ดี จะเป็นหนังสือที่เด็กอยากอ่านเพื่อความสนุก เพลิดเพลิน สนองจินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ซึ่งเป็นบันไดขั้นต้นของการรักการอ่านหนังสือ ได้ดีกว่าหนังสือประเภทสารคดีหรือตำราเรียนแบบเก่า ที่เน้นเนื้อหาสาระมากกว่าเพื่อความบันเทิง (ในต่างประเทศเขาทำตำราหนังสือสารคดีที่อ่านได้ง่าย สนุก เพิ่มขึ้นมาก)
 
สำหรับเกณฑ์คัดเลือกหนังสือดีเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย เราวางไว้ดังนี้ คือ
 
1. เป็นหนังสือเล่ม ประเภทเรื่องแต่งหรือบันเทิงคดี (นิทาน นิยาย การ์ตูน เรื่องสั้น บทกวี) ที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนไทย ไม่จำกัดยุคสมัย
 
2. เป็นวรรณกรรมที่ดี คือ มีศิลปะในการเขียนที่ดี มีความงาม ความไพเราะ ความสะเทือนอารมณ์ อ่านได้สนุกเพลิดเพลิน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมความเข้าใจชีวิตและสังคม เสริมสร้างภูมิปัญญา จินตนาการ และค่านิยมที่ดี (ช่วยพัฒนาตนเองและอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างสันติสุข)
 
3. มีเนื้อหา ท่วงทำนอง ภาพประกอบที่สามารถสนองความเข้าใจของนักอ่านกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับวัย กระตุ้นจินตนาการ และการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและโลกที่ผู้อ่านในวัยนั้นรู้สึกเชื่อมโยงด้วย มีลักษณะเป็นวรรณกรรมเด็กและเยาวชน เช่น ตัวละครและเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กเยาวชน หรือสิ่งมีชีวิตอื่นที่เด็กเยาวชนรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ สั้น กระชับ ง่าย ลำดับเรื่องดี มีเหตุการณ์ บทสนทนาที่เคลื่อนไหว มองโลกในแง่ดี มีคติสอนใจ มีความสนุกเพลิดเพลิน เร้าใจ ชวนให้ติดตาม
 
4. มีเนื้อหาสาระที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตและสังคมวัฒนธรรมไทยและโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น และหรืออยากอ่านหนังสือวรรณกรรมที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นต่อไป
 
ขณะนี้ โครงการหนังสือดี ของเราได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ช่วยคัดเลือกและส่งหนังสือมาให้เราพิจารณาแล้วส่วนหนึ่ง คือ สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก สำนักพิมพ์ห้องเรียน สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก สำนักพิมพ์แสงดาว สำนักพิมพ์ชนนิยม สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991 สำนักพิมพ์แจ่มใส และสำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์ ผู้อ่านบางท่านก็เสนอรายชื่อหนังสือที่ท่านคิดว่าดีมาที่เราด้วย
 
เราหวังว่าการคัดเลือกหนังสือดีเพื่อเด็กและเยาวชน เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเยาวชนของเรารักการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผมก็จะเขียนบทวิจัยด้วยว่า เราจะแก้ปัญหาคนไทยอ่านหนังสือน้อย และกระตุ้นให้คนไทยรักการอ่านหนังสือดีเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
ที่มา : 



วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555


คณะนักวิจัย : โคงการคัดเลือกหนังสือดี 100 ชื่อเรื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย (สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สสค.)

รศ.วิทยากร เชียงกูล ประธานโครงการ


ผศ.จินดา จำเริญ นักวิจัย


อ.พรพิไล เลิศวิชา นักวิจัย


อ.ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักวิจัย


รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ นักวิจัย


ผศ.รพินทร คงสมบูรณ์ นักวิจัย