วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ต่อจากตอนที่แล้ว คือเลือด และลมหายใจของ "นักเรียน"

ครูครับวันเวลาที่การเรียนรู้มีรสชาติจัดจ้านกำลังถอยเลื่อนห่างออกไป เราอาจเคยหยอกล้อกันว่าเด็กสมัยนี้ไม่รู้จักตัวเขายาว ๆ ที่ช่วยเราทำนา

บางที่ บางห้อง ในโรงเรียนของเรา เด็ก ๆ อาจแยกไม่ได้ว่าไหนปลาหมอ ไหนปลาตะเพียน

และสิ่งที่เราน่าจะเห็นว่าหนักหนากว่าการไม่รู้จักชนิดปลา คือการที่เด็ก ๆ ไม่ตื่นเต้นกับชีวิตอีกต่อไป

ไม่สงสัยว่าทำไมปลาดุกถึงได้ชื่อว่าปลาดุก ไม่รู้สึกถึงความเสี่ยงอันเร้าใจของการพยายามจับปลาดุกโดยไม่ให้ถูกเงี่ยงมันยักเนื้อเอา แล้วได้รสชาติชีวิตของความปวดระบบเมื่อพลาดแพ้ทางปลา

ไม่เคยได้กลิ่นเลือดเมื่อผ่าพุงพุงปลา ไม่เคยมองหนวดของปลาที่ทำให้มันได้ชื่อว่า cat fish 

ครูครับ ในวันที่เราเรียนวรรณคดีไทยและได้อ่านบทชมปลา หากว่าเรามีปลาตัวเล็ก ๆ ในกะละมังเก่า ๆ วางกลางห้องสักใบ เราอาจจะได้แววตาสุกสว่างอย่างกับเทียนในกระทงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองคืนมาสักยี่สิบสามสิบคู่

วันที่เราเรียนวิทยาศาสตร์ การได้เห็นปลาช่อนซุกลงในโคลน ปลาดุกกระโจนออกมานอกขัน ปลาหมอสะบัดตัวเอาครีบเดินต่างเท้าอาจทำให้เราได้ "นักเรียน" ที่มีสายเลือดอยากรู้เข้มข้นกลับมาอีกสักโหลสองโหล

ครูครับเด็ก ๆ ของเราย่อมต้องเรียนมากกว่า หนังสือมากกว่า Google และ Wikipedia

คนจริงนั้นไม่ได้อ่านหนังสือ แต่อ่าน ชีวิต ไปด้วยเสมอ

ครูครับ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเอาชนะความกลัวและความขยะแขยงที่มาพร้อมเมือกและกลิ่นคาวปลา เธอพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะเอาปลาตัวเล็ก ๆ ที่กระโดดลงพื้นไปคืนกะละมัง

เราตีค่าความเมตตาเป็นตัวเงินไม่ได้

ความเมตตาที่คุกรุ่นจนทำให้นักเรียนคนหนึ่งทิ้งความขยะแขยง และเลือกลงมือช่วยชีวิตปลานั้น อาจเป็นเลือดและลมหายใจของหมอคนหนึ่งในอนาคต

ครูจับปลาใส่ถัง ยกเข้าไปสอนสักวันนะครับ...ครู





ที่มา : จดหมายข่าวราย 2 เดือน "ชนวน" ธันวาคม พ.ศ.2554-มกราคม พ.ศ. 2555 โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น